บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

พระมหาอำนวย อานันโท[01]


พระมหาอำนวยทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาเรื่องการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท”  เป็นวิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ ปี 2542 ก็ประมาณ 13 ปีมาแล้ว

ผลการศึกษาของพระมหาอำนวย ท่านเขียนลงในบทคัดย่อ ดังนี้

จุดประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ คือ การศึกษาหลักธรรมและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม โดยค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นสำคัญ

ผู้วิจัยพบว่า การบรรลุธรรมนั้น สิ่งสำคัญประการแรก คือ การศึกษาถึงหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ เป็นหลักธรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมโดยเฉพาะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในวาระต่าง ๆ กัน เพื่อให้เหมาะกับจริตนิสัยของแต่ละบุคคล โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8 แต่ละหมวดธรรมมีความสมบูรณ์อยู่ในตัว

ผู้ปฏิบัติจะถือหลักธรรมหมวดไหนในการปฏิบัติก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกันเปรียบเหมือนแม่น้ำทุกสายย่อมไหลลงสู่มหาสมุทร ฉันใด การปฏิบัติธรรมตามหมวดธรรมใดย่อมนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ ฉันนั้น

โดยสรุปการปฏิบัติธรรมนั้นมี 2 วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะต้องปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน ถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถยกจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณได้ การบรรลุมรรคผลจะไม่เกิดขึ้นเลย

เมื่อสามารถทำวิปัสสนาญาณให้แจ้งได้แล้ว การบรรลุมรรคผลจึงจะเกิดขึ้น การปฏิบัติเมื่อได้ศึกษาหลักธรรมจนมีความเข้าใจและจดจำได้เป็นอย่างดีแล้วจึงลงมือปฏิบัติ ซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตัดสิ่งวิตกกังวลต่าง ๆ ออกให้หมดเสียก่อน

เมื่อพร้อมแล้วจึงไปสู่สำนักของอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในการสอน แนะนำ แก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ได้ แล้วเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง มีความมุ่งมั่นอย่างมีเป้าหมาย ไม่ท้อแท้ เพียรพยายามปฏิบัติไปตามขั้นตอนและต้องคอยตรวจสอบผลการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พยายามปรับปรุงแก้ไขวิธีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการที่ได้ศึกษา จนสามารถขจัดกิเลสออกจากจิตสันดาน และบรรลุมรรคผลตามที่ปรารถนาในที่สุด

ผลของการบรรลุธรรมนั้นมี 4 ระดับ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และ อรหัตตผล ซึ่งผลของการบรรลุธรรมแต่ละระดับ สามารถขจัดกิเลสได้ตามลำดับ ตั้งแต่กิเลสอย่างหยาบไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียด พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ ไปด้วย

สภาวะของการบรรลุธรรมและช่วงจังหวะในการบรรลุธรรมนั้น มีความแตกต่างกัน แล้วแต่ประสบการณ์และภูมิหลังของแต่ละบุคคล แต่ที่เหมือนกัน คือ เมื่อถึงจุดสุดท้ายของการบรรลุธรรมทุกคนล้วนมองเห็นความจริงของสรรพสิ่งว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยและไม่มีใครบังคับบัญชาได้

ผลจากการศึกษาพบว่า หลักธรรมและแนวทางในการปฏิบัติมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ยังขาดขั้นตอนการปฏิบัติและแบบแผนในการปฏิบัติที่เป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน และการประเมินผลการปฏิบัติที่สามารถนำมาประเมินผลการปฏิบัติของทั้งตนเองและผู้อื่นได้ ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เสนอแผนการปฏิบัติไว้อย่างเป็นขั้นตอน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติของตนเองและผู้อื่นไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและการประเมินผลการบรรลุธรรมสืบไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ปรารถนาการบรรลุธรรมจักได้ประโยชน์จากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้

งานวิจัยชิ้นนี้ นับว่าเป็นงานวิจัยที่ “ห่วยแตก” อีกงานวิจัยหนึ่ง  ขอให้ดูย่อหน้าสุดท้ายที่ผู้วิจัยกล่าวว่า “ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เสนอแผนการปฏิบัติไว้อย่างเป็นขั้นตอน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติของตนเองและผู้อื่นไว้

ข้อความดังกล่าว การคือการปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของสายยุบหนอพองหนอ  พระมหาอำนวยได้เสนอแนะไว้ใน “ข้อเสนอแนะ”

อย่างนี้ เขาไม่เรียกงานวิจัย  งานวิจัยต้องเป็นการค้นคว้านำเสนอขึ้นมาใหม่  อาจจะเอามาจากหลายแหล่งความรู้  แต่นี่ พระมหาอำนวยฟันธงไปก่อนแล้วว่า จะต้องเป็นแบบนี้ แล้วก็ไปอ่านเอกสารมาตัดแปะติดต่อกันไป

แต่นี่ พระมหาอำนวยมีรูปแบบการปฏิบัติธรรมอยู่ในใจแล้วคือ ของสายยุบหนอพองหนอ พระมหาอำนวยเอาสิ่งที่อ่านมาได้ ตัดแปะไปเรื่อย เพื่อที่จะให้ไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้แล้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น