บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อะไรล่ะ ตัวตนของเรา

ในบทความชุดนี้ ต้องการจะนำเสนอว่า กิเลสอยู่ที่ไหนและได้กล่าวไปแล้วว่า อยู่ในขันธ์ 5 จึงต้องกล่าวถึง “ขันธ์ 5” ให้เข้ากันตรงกันเสียก่อน

พุทธวิชาการหรือสายปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ “ขันธ์ 5” โดยได้ยกตัวอย่างข้อเขียนของพระประยุทธ์/พระเปลืองข้าวสุกประชาชนกับคุณสุชีพ ปุญญานภาพไปแล้วในบทความที่ผ่านมา

ความเข้าใจผิดของพุทธวิชาการหรือนักปริยัติที่ว่า “ตัวตนไม่มี” ก็อธิบายไปแล้วว่า ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร

คราวนี้มาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับ “ขันธ์ 5” ที่ถูกต้องตามคำอธิบายของวิชาธรรมกายเสียที

ขอยกตัวอย่าง อนัตตลักขณสูตรตรง “ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ” อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป

เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...................
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง...................
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ...................
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง...................

ข้อความในส่วนข้างบนนั้น บอกว่า “ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ซึ่งสามารถตีความในทางภาษาศาสตร์ได้ว่า ตัวตนของเรามี

ขอให้พิจารณาข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง  [ตัวตนของเรา]  คำว่า [ตัวตน] เป็นคำหลัก คำว่า  [ของเรา]  เป็นคำขยาย

คำว่า “ของเรา” ซึ่งขยายตัวตนนั้น แสดงว่า ตัวตนของเราต้องมี  ในทางภาษาศาสตร์ต้องตีความไปแบบนี้ ถึงจะถูกต้อง

ข้อความว่า “ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา”  ถ้าตีความไปว่า “ตัวตนไม่มี” เป็นการตีความที่ผิดหลักภาษาศาสตร์

ไม่มีทฤษฎีหรือหลักการใดๆ ในทางภาษาศาสตร์ ที่จะตีความไปอย่างนั้นได้ 

ผู้ที่ตีความว่า “ตัวตนไม่มี” เช่นพระประยุทธ์/พระเปลืองข้าวสุกประชาชน หรือคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ ไม่ได้ใช้หลักภาษาศาสตร์

แต่ตีความไปเพราะ ไปเชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า คนเกิดมาโดยหลักการทางธรรมชาติ เกิดแล้วก็ตายไปเลย ไม่มีการสืบต่อใดๆ

แล้วอะไรล่ะ คือ ตัวตนของเรา

ก่อนที่จะอธิบาย  “ขันธ์ 5” และ  “ตัวตนของเรา” ของวิชาธรรมกายโดยละเอียด ขอยกตัวอย่างประกอบเสียก่อน เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ผมจะอธิบายได้ง่ายขึ้น  ซึ่งก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับอะตอมของนักวิทยาศาสตร์

ดีโมครีตุสได้นำแนวคิดของอาจารย์คือ ลิวคิพพุส (Leucippus) ได้ตั้งชื่อ อะตอม (átomos) ขึ้น ซึ่งมีความหมายว่า "ตัดแยกไม่ได้" หรือ "ชิ้นส่วนของสสารที่เล็กที่สุดไม่อาจแบ่งแยกได้อีก" เพราะคิดว่า อะตอมเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดแล้ว

ต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็รู้ว่า “อะตอม” ยังประกอบไปด้วย โปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน 

ต่อมาอีก นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบ ควาร์ก (quark) อันเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม ซึ่งมี 6 ชนิด เรียกว่า 6 เฟลเวอร์ (flavor) ได้แก่ อัพ (up), ดาวน์ (down), ชาร์ม (charm), สเตรนจ์ (strange), ท็อป (top), และ บ็อทท็อม (bottom)

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง ทฤษฎีเส้นเชือก (String Theory) ก็เสนอแนวคิดที่ว่า อนุภาคทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นอะตอมนั้น อาจจะเป็นเส้นเชือกที่เล็กมาก ไม่ใช่เป็นจุดอย่างอนุภาค

จากผลการศึกษาในเรื่องอะตอมของนักวิทยาศาสตร์ให้ความรู้แก่เราว่า นักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าเข้าใจผิดคิดว่าอะตอมเล็กสุด 

พวกพุทธวิชาการก็เข้าใจผิดเหมือนกันว่า “ขันธ์ 5” นั้น ละเอียดที่สุดแล้ว  ไม่มีอะไรที่ละเอียดไปกว่าขันธ์ 5 แล้ว

พอพบข้อความที่ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา” ซึ่งหมายความว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา

พวกนี้ก็มึนเพราะไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติธรรม ประกอบกับไปเชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า “ตายแล้วเกิดชาติเดียว” ก็ตีความมั่ว สอนมั่วไปว่า “ตัวตนไม่มี

ขันธ์ 5 ของวิชาธรรมกายเป็นดังนี้


กาย
ใจ
ละเอียดสุด
กำเนิดกาย
กำเนิดเห็น
กำเนิดจำ
กำเนิดคิด
กำเนิดรู้
ละเอียด
ดวงกาย
ดวงเห็น
ดวงจำ
ดวงคิด
ดวงรู้
หยาบ
รูป
เวทนา
สัญญา
สังขาร
วิญญาณ

ตามหลักวิชาธรรมกาย กำเนิดกาย กำเนิดเห็น กำเนิดจำ กำเนิดคิด กำเนิดรู้ ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำมักจะเรียกสั้นๆ ว่า “เห็น จำ คิด รู้” คือ ตัวตนของเรา

ขอย้ำอีกว่า ไม่ใช่ตัวตนแบบพราหมณ์หรืออัตตาแบบพราหมณ์

เป็นตัวตนที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ ซึ่งยังเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังต้องถูกปัจจัยปรุงแต่งอยู่ 

ตัว “เห็น จำ คิด รู้” กับ กายละเอียดต่างๆ นี้แหละ เป็นตัวไปเกิด มาเกิด ตามกรรมที่ทำไว้

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ  “ขันธ์ 5” นั้น  ตัวที่มาเกิดนั้น มาได้ในโลกมนุษย์นี้ เมื่อพ่อกับแม่ทำกิจกรรมสร้างมนุษย์กัน

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะ เราต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ เอาไปด้วยไม่ได้ 

หลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนในหนังสือ “มรรคผลพิสดาร” หน้า 20 ดังนี้

ขันธ์ ๕ เป็นดุจดังว่า บ้านเรือน เป็นที่อยู่อาศัย ส่วน เห็น จำ คิด รู้ เป็นดุจดังว่า บุคคล ผู้อาศัยบ้านเรือนอยู่

อุปาทานเป็นผู้เป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ กล่าวคือ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น ว่าเป็นเรา เป็นของแห่งเรา

ก็บ้านเรือนที่อยู่อาศัย กล่าวคือ ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอย่างใดขึ้นแล้ว บุคคลผู้อาศัย คือ เห็น จำ คิดรู้ นั้น ก็จำเป็นต้องได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย

กล่าวคือ เกิดทุกข์ขึ้นทันที เพราะ อุปาทานผู้ยึดถือว่า บ้านเรือนของเรา จึงได้เกิดทุกข์ขึ้น

จะเห็นได้ว่า คำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา ซึ่งหมายความว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา  นั่นเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ทั้งขันธ์ 5 และ ตัว “เห็น จำ คิด รู้” กับ กายละเอียดต่างๆ นั้น ก็ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ทั้งหมด

โดยสรุป

ขันธ์ ๕ เบื้องต้น หรือ ขั้นละเอียดสุด คือ กำเนิดกาย กำเนิดเห็น กำเนิดจำ กำเนิดคิด กำเนิดรู้  

ขันธ์ ๕ เบื้องต้นขยายหยาบออกมาเป็น ขันธ์ ๕ เบื้องกลางคือ ดวงกาย ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้

ต่อไปเป็นเรื่องสำคัญที่พุทธวิชาการอธิบายไม่ชัดเจนคือ ขันธ์ ๕ เบื้องกลางต้นขยายหยาบออกมาอีกเป็น กาย ใจ จิต วิญญาณ

ใจ จิต วิญญาณนั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นเอง เพราะ ใจมีหยาบและละเอียด

ใจหยาบ
เรียกว่า
ใจ
ใจระดับกลาง
เรียกว่า
จิต
ใจละเอียด
เรียกว่า
วิญญาณ

ขอยกหลักฐานประกอบจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มหาวรรคที่ ๗ ๑. อัสสุตวตาสูตรที่ ๑ ดังนี้

[๒๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ ปุถุชนผู้มิได้สดับจึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายนั้น

แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง

ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิต เป็นต้นนั้นได้ เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเราดังนี้ ตลอดกาลช้านานฉะนั้น

ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลาย กำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ฯ

[๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ

แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ฯ


จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ก็ทรงสอนไว้แล้วว่า ใจ จิต วิญญาณ หรือ จิต มโน วิญญาณก็คือ ใจของมนุษย์ เกิดดับเกิดดับตลอดเวลา 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น