บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อนัตตลักขณสูตร

ในบทความเรื่อง “วิชชาสาม” ผมได้นำเสนอไปแล้วว่า การที่ใครจะบรรลุมรรคผลนิพพานจะต้องใช้วิชชาสาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิชชาอาสวักขยญาณ” นั้น สำคัญที่สุด

วันนี้จะนำเสนออีกพระสูตรหนึ่ง คือ อนัตตลักขณสูตร  เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนพระสูตรนี้จบลง พระปัญจวัคคีย์ก็บรรลุพระอรหันต์ทั้งหมด

ต้องขอย้ำก่อนว่า พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังธัมจักกัปปวัตนสูตรมาก่อนแล้ว แต่ได้แค่ “ดวงตาเห็นธรรม” ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้  เนื่องจากติดอยู่กับ “อัตตาแบบพราหมณ์”

อนัตตลักขณสูตรมีเนื้อหาที่ตัดข้อความที่ซ้ำๆ กันลงไปบ้าง ดังนี้

[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  รูปเป็นอนัตตา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา

ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่ารูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

เวทนาเป็นอนัตตา ..........
สัญญาเป็นอนัตตา ..........
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ..........
วิญญาณเป็นอนัตตา ..........

ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์

[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉนรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?  ...................
ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ...................
ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ...................
ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ...................

ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ

[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้
ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เ

ธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...................
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง...................
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ...................
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง...................


[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น 

เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว

อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของผู้มีพระภาค.

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

อนัตตลักขณสูตร จบ

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.

ปฐมภาณวาร จบ

ในอนัตตลักขณสูตรนี้ ข้อความที่ยืนยันว่า พระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหันต์แล้ว คือ ข้อความนี้

อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ในอนัตตลักขณสูตร ไม่เห็นจะบอกตรงไหนเลยว่า มีการใช้วิชชาสาม บอกเพียงแต่ว่า พระปัญจวัคคีย์เบื่อหน่ายในขันธ์ห้า

เมื่อเบื่อหน่ายในขันธ์ห้า พระปัญจวัคคีย์ก็สิ้นกำหนัด กำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น  เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้วจากอาสวะ เพราะ ไม่ยึดมั่นถือมั่น

ตรงนี้ต้องใช้หลักการของภาษาศาสตร์เข้ามาวิเคราะห์ 

ในทางภาษาศาสตร์นั้น ในการสื่อสารกัน ถ้าความรู้เดิม (Old knowledge) ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีอยู่ร่วมกันแล้ว ในการสื่อสารกันนั้น มันจะละความรู้เดิมนั้นไว้

ในกรณีของอนัตตลักขณสูตรนี้ ผู้ที่ท่องจำพระสูตรนี้ ต้องเข้าใจดีอยู่แล้วว่า การบรรลุมรรคผลต้องใช้วิชชาสาม  และพระปัญจวัคคีย์ก็ใช้วิชชาสามด้วย

แต่อนัตตลักขณสูตรต้องการจะเน้นไตรลักษณ์ เพราะ พระปัญจวัคคีย์ติดอยู่กับ “อัตตาแบบพรหมณ์” จึงท่องจำเฉพาะสิ่งที่ควรท่องจำไว้ 

สิ่งที่เป็นความรู้เดิมที่มีอยู่ร่วมกันแล้ว จึงไม่เอ่ยถึง 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น