บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

การบรรลุนิพพาน

ในบทความชุดนี้ ผมได้เกริ่นนำไว้ตั้งแต่บทความแรกแล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

ทั้งๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย ต่างก็มีจุดมุ่งหมายคือ นิพพานทั้งสิ้น และมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว 

ขอยกตัวอย่างจากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนอีกครั้งหนึ่ง  ตอนนี้ เป็นตอนที่นางพิมพิลาไลยหรือนางวันทอง อธิษฐานของเป็นคู่กับพลายแก้วตลอดไป  ดังนี้

จะเกิดไปในภพชาติหน้า
ขอให้ข้าพบกันให้จงได้
ร้อยกัปแสนกัลป์อนันต์ไกล
พบกันไปตราบเท่าเข้านิพพาน

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาจากเอกสารเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพุทธวิชาการหรือพุทธปฏิบัติธรรม

ล้วนแต่อธิบายการบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างมีข้อบกพร่องทั้งสิ้น

กล่าวคือ อ่านไปจนหัวแทบแตกก็ยังไม่รู้ว่าจะ “บรรลุมรรคผลนิพพาน” ได้อย่างไร

การอธิบายการบรรลุมรรคผลนิพพานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้น อธิบายได้เพียงบางส่วน ยังไม่มีเห็นมี บุคคลใดอธิบายได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

ประการที่สำคัญที่สุดก็คือ  ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึง จะ “บรรลุมรรคผลนิพพาน” ได้

ตรงนี้ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า

วิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) อธิบายไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความ และยังบอกแนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งปฏิเวธไว้อย่างเรียบร้อย

จากที่เขียนบทความมาทั้งหมดก่อนหน้าบทความนี้ เราจะมาสรุปตัวชี้วัดของการที่เราๆ ท่านๆ จะบรรลุมรรคผลนิพพานมี ดังนี้คือ

1) บารมีครบ 30 ทัศ

บารมี หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วย เหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ

บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ คือ

ทานบารมี
ศีลบารมี
เนกขัมมะบารมี
ปัญญาบารมี
วิริยะบารมี
ขันติบารมี
สัจจะบารมี
อธิษฐานบารมี
เมตตาบารมี
อุเบกขาบารมี

ซึ่งในแต่ละบารมีนั้นแบ่งย่อยเป็น 3 ขั้น ได้แก่ บารมีขั้นต้น บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี บารมีขั้นสูงสุดหรือปรมัตถบารมี จึงรวมเป็นบารมี 30 ทัศ

2) ต้องใช้วิชชาสาม

วิชชาสาม คือ วิชชาบุพเพนิวาสานุสสติญาณ วิชชาจุตูปปาญาณ  และวิชชาอาสวักขยญาณ เพื่อกำจัดกิเลส หยาบ-กลาง-ละเอียด ดังนี้

หยาบ
อภิชฌา
พยาบาท
มิจฉาทิฐิ
กลาง
โลภะ
โทสะ
โมหะ
กลาง
ราคะ
โทสะ
โมหะ
ละเอียด
กามราคานุสัย
ปฏิฆานุสัย
อวิชชานุสัย

ในวิชชาอาสวักขยญาณนั้น มีการพิจารณาอริยสัจ 4 เพื่อกำจัดอวิชชาอยู่ในนั้นเรียบร้อยแล้ว และมรรค 8 นั้นก็อยู่ในอริยสัจ 4

ในการที่จะทำวิชชาสามนั้น ก็ต้องเริ่มมาตั้งแต่สมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โพธิปักขยธรรม 37 ฯลฯ  ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะมาทำวิชชาสามเลย

3) ต้องละสังโยชน์ให้ได้

สังโยชน์ คือกิเลสที่ยังอยู่กับโสดาบันบุคคล มี 10 ชนิด ดังนี้

สังโยชน์เบื้องต่ำ
สังโยชน์เบื้องสูง
1) สักกายทิฏฐิ
6) รูปราคะ
2) วิจิกิจฉา
7) อรูปราคะ
3) สีลัพพตปรามาส
8) มานะ
4) กามราคะ
9) อุทธัจจะ
5) ปฏิฆะ
10) อวิชชา

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จากการศึกษาเอกสารต่างๆ ยังไม่มีบุคคลใด หรือสายปฏิบัติธรรมใดที่อธิบายประเด็นที่เกี่ยวกับการบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างละเอียดครบถ้วน ยกเว้นวิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

บุคคล คณะบุคคล และสายปฏิบัติธรรมอื่นๆ นั้น อธิบายไม่แจ่มแจ้ง เนื่องจากขาดทักษะการปฏิบัติบ้าง  ปฏิบัติผิดๆ ถูกๆ บ้าง  มั่วเอาบ้าง...

สิ่งที่น่าจะตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ในพระไตรปิฎกไม่ได้มีการกำหนดประเภทของวิปัสสนาญาณไว้ และไม่ได้กำหนดด้วยว่า ในการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น จะใช้วิปัสสนาญาณช่วงไหน

ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีการบรรยายขั้นต่างของการวิปัสสนา เป็น 16 ขั้น หรือเรียกว่า ญาณ16 (โสฬสญาณ) เป็นญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา โดยลำดับตั้งแต่ต้น จนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน คือ

1.  นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ญาณกำหนดแยกนามรูป

2.  นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณจับปัจจัยแห่งนามรูป

3.  สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์

4.  อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้(ระหว่างเกิดถึงดับ เห็นเป็นดุจกระแสน้ำที่ไหล)

5.  ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา(ระหว่างดับถึงเกิด)

6.  ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ไม่แน่นอน ดุจกลัวต่อมรณะที่จะเกิด

7.  อาทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษภัยของสิ่งทั้งปวง ผันผวนแปรปรวน พึ่งพิงมิได้

8.  นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความเบื่อหน่าย

9.  มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย

10.  ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทางหนี

11.  สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางวางเฉยต่อสังขาร

12.  สัจจานุโลมิกญาณ หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์  (พิจารณาวิปัสสนาญาณทั้ง  ๘  ที่ผ่านมา ว่าเป็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เห็น สมุทัย นิโรธ มรรค โดยแต่ละญาณเป็นเหตุเกิดมรรค ทั้ง  ๘  ตามลำดับ )

13.  โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน (ถ้าเป็นอริยบุคคลแล้ว จะเรียกว่าวิทานะญาณ)  เห็นความทุกข์จนไม่กลัวต่อความว่าง ดุจบุคคลกล้าโดดจากหน้าผาสู่ความว่างเพราะรังเกียจในหน้าผานั้นอย่างสุดจิตสุดใจ

14.  มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค

15.  ผลญาณ หมายถึง ญาณอริยผล

16.  ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณาทบทวน

สำหรับวิปัสสนาญาณ 10 ที่จะกล่าวถึงต่อไปในข้างหน้านั้น คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ กำหนดไว้ดังนี้

1.  สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์

2.  อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้(ระหว่างเกิดถึงดับ เห็นเป็นดุจกระแสน้ำที่ไหล)

3.  ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา(ระหว่างดับถึงเกิด)

4.  ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ไม่แน่นอน ดุจกลัวต่อมรณะที่จะเกิด

5.  อาทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษภัยของสิ่งทั้งปวง ผันผวนแปรปรวน พึ่งพิงมิได้

6.  นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความเบื่อหน่าย

7.  มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย

8.  ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทางหนี

9.  สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางวางเฉยต่อสังขาร

10.  สัจจานุโลมิกญาณ หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์ (พิจารณาวิปัสสนาญาณทั้ง  ๘  ที่ผ่านมา ว่าเป็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เห็น สมุทัย นิโรธ มรรค โดยแต่ละญาณเป็นเหตุเกิดมรรค ทั้ง  ๘   ตามลำดับ )






“กำเนิดเดิม” ตัวตนของเรา


ในบทความชุดนี้ ต้องการจะนำเสนอว่า กิเลสอยู่ที่ไหนและได้กล่าวไปแล้วว่า อยู่ในขันธ์ 5 จึงต้องกล่าวถึง “ขันธ์ 5” ให้เข้ากันตรงกันเสียก่อน

ในบทความก่อนหน้านี้ ได้อธิบายไปแล้วว่า ที่อนัตตลักขณสูตรกล่าวว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรานั้น  ถูกต้องแล้ว 

แต่ไม่ใช่ว่า “ตัวตนไม่มี”  ตัวตนของเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายต้องมี ซึ่งก็คือ “กำเนิดเดิม”

กำเนิดเดิมนั้น เป็นส่วนละเอียดของขันธ์ 5

หลวงพ่อวัดปากน้ำได้อธิบายถึงองค์ประกอบของกำเนิดเดิมแล้วว่า ประกอบด้วย กำเนิดกาย กำเนิดเห็น กำเนิดจำ กำเนิดคิด และกำเนิดรู้

กำเนิดเดิมนี่แหละ ที่เป็นตัวไปเกิดมาเกิด เป็นตัวที่เก็บข้อมูลบุญ-บาป  กำเนิดเดิมเดิมนี่แหละ ที่จะเป็นตัวไปหาขันธ์ 5 ส่วนหยาบข้างหน้า 

กำเนิดเดิมนี่แหละคือ ตัวตนของเรา 

ขอย้ำว่า กำเนิดเดิมยังตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  และขอย้ำแบบยกกำลังสองว่า กำเนิดเดิมไม่ใช่ “อัตตาแบบพราหมณ์”

หลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนเรื่อง “กำเนิดธาตุธรรมเดิม” ไว้ในหนังสือมรรคผลพิสดาร หน้า 27 ดังนี้

กำเนิดธาตุธรรมเดิมกับขันธ์ ๕ นั้น ต่างกันคนละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน  คือ กำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น เป็นพืชเดิมที่จะก่อเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น

กำเนิดธาตุธรรมเดิมของมนุษย์ ตั้งอยู่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ที่ภายในสะดือเข้าไป เห็นดวงกลมใส สะอาดบริสุทธิ์ ประมาณเท่าปลายเข็ม หรือเท่าเมล็ดโพธิ์ เมล็ดไทร

นี่เป็นพืชเดิม เกิดมีขึ้นก่อน

ในทางวิชาธรรมกายนั้น “ธรรมะ” ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อใด ในส่วนละเอียดจะเป็น “ดวงกลม” ทั้งสิ้น  กำเนิดธาตุธรรมเดิม หรือกำเนิดเดิมนั้น เป็นดวงกลมใส

ข้อความตรงนี้ สอดคล้องกับ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใดนั้น แม้จะอุปมาก็กระทำได้มิใช่ง่าย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา ฯ

หลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนเรื่อง “กำเนิดธาตุธรรมเดิม” ต่อมาอีก ในหน้า 27-28 ดังนี้

กำหนดธาตุธรรมเดิมนั้น ขยายเป็นส่วนท่ามกลาง และเป็นส่วนหยาบออกมาก็เป็นดวงกลมใสสะอาดบริสุทธิ์ หุ้มอยู่ชั้นนอกของกำเนิดธาตุธรรมเดิมส่วนที่ละเอียด

ดวงกลมอย่างหยาบท่ามกลางนี้แหละ จะตั้งปฏิสนธิกำเนิดเป็นขันธ์ ๕ ร่างกายของมนุษย์เป็นเบื้องต้น

ตั้งแต่เท่าหยาดน้ำมันงาอันใส ซึ่งติดอยู่ปลายขนจามจุรี อันบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง สลัดเสียแล้ว ๗ ครั้ง เป็นกลละรูป

ตรงนี้ ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปใหญ่ คือ กำเนิดเดิมนั้นคือ ตัวตนของเรา  กำเนิดเดิมที่ขยายหยาบขึ้นมา คือ ตัวขันธ์ ๕  

ขันธ์ ๕ นี้เปรียบเสมือนบ้านของคน  กำเนิดเดิมก็คือคน



หรืออาจจะเปรียบเทียบได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ  ขันน้ำกับน้ำ 

ขันเปรียบได้กับขันธ์ 5 ส่วนน้ำในขัน ก็คือ กำเนิดเดิม อันเป็นตัวตนของเรา

ดวงกลมที่เป็นกลละรูปของหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น ก็สอดคล้องกับพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต อินทกสูตรที่ ๑ ดังนี้

[๘๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาอินทกูฏ ซึ่งอินทกยักษ์ครอบครอง เขตกรุงราชคฤห์ ฯ

[๘๐๒] ครั้งนั้นแล อินทกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นแล้วได้กราบทูลด้วยคาถาว่า "[ถ้า] ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า รูปหาใช่ชีพไม่ สัตว์นี้จะประสพ ร่างกายนี้ได้อย่างไรหนอ กระดูกและก้อนเนื้อจะมาแต่ไหน สัตว์นี้จะติดอยู่ในครรภ์ได้อย่างไร"

[๘๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "รูปนี้เป็นกลละก่อน  จากกลละเป็นอัพพุทะ  จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ  จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้น มีผมขน และเล็บ (เป็นต้น) เกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดา ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น" ฯ

ขอสรุปประเด็นที่เกี่ยวกับกำเนิดเดิมหรือตัวตนของเรากับขันธ์ 5 ด้วยข้อเขียนของคุณลุงการุณย์ บุญมานุชในหนังสือ  หน้า 116 ดังนี้

สรุปว่า กำเนิดเดิมมีขึ้นก่อน ขันธ์ ๕ เกิดตามทีหลัง

ขันธ์ ๕ มีขึ้นในวันที่ปฏิสนธิ สิ่งที่เกิดพร้อมกับขันธ์ ๕ คือ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒

เมื่อกายมนุษย์เป็นอย่างนี้ กายละเอียดอื่นๆ ของเราก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ เกิดพร้อมกันหมด...

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีพุทธวิชาการหรือนักปริยัติคนไหน สามารถอธิบายเรื่องขันธ์ 5 ได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งเท่ากับหลวงพ่อวัดปากน้ำอีกแล้ว 

นี่..หมายความรวมถึงสายปฏิบัติธรรมอื่นๆ ด้วย

พวกเขาเหล่านั้น พอเห็นข้อความในอนัตตลักขณสูตรที่ว่า “ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา”  ความที่ “ไม่รู้” และ “ไม่เห็น”  หรือถ้าจะกล่าวชัดๆ ก็คือ “ไม่มีญาณทัสสนะ” ใดๆ 

จึงตีความเลยเถิด เลยศาสนาพุทธไปว่า “ตัวตนไม่มี

การตีความว่า “ตัวตนไม่มี” นั้น เข้าข่าย “มิจฉาทิฐิ” เข้าไปแล้ว เพราะ เมื่อเชื่อว่า “ตัวตนไม่มี” บุญ-บาปก็ต้องไม่มีไปด้วย เพราะ จะไม่มีผู้รับผลของบุญ-บาปที่ “ตัวตนของเรา” ทำขึ้น



อะไรล่ะ ตัวตนของเรา

ในบทความชุดนี้ ต้องการจะนำเสนอว่า กิเลสอยู่ที่ไหนและได้กล่าวไปแล้วว่า อยู่ในขันธ์ 5 จึงต้องกล่าวถึง “ขันธ์ 5” ให้เข้ากันตรงกันเสียก่อน

พุทธวิชาการหรือสายปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ “ขันธ์ 5” โดยได้ยกตัวอย่างข้อเขียนของพระประยุทธ์/พระเปลืองข้าวสุกประชาชนกับคุณสุชีพ ปุญญานภาพไปแล้วในบทความที่ผ่านมา

ความเข้าใจผิดของพุทธวิชาการหรือนักปริยัติที่ว่า “ตัวตนไม่มี” ก็อธิบายไปแล้วว่า ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร

คราวนี้มาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับ “ขันธ์ 5” ที่ถูกต้องตามคำอธิบายของวิชาธรรมกายเสียที

ขอยกตัวอย่าง อนัตตลักขณสูตรตรง “ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ” อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป

เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...................
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง...................
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ...................
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง...................

ข้อความในส่วนข้างบนนั้น บอกว่า “ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ซึ่งสามารถตีความในทางภาษาศาสตร์ได้ว่า ตัวตนของเรามี

ขอให้พิจารณาข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง  [ตัวตนของเรา]  คำว่า [ตัวตน] เป็นคำหลัก คำว่า  [ของเรา]  เป็นคำขยาย

คำว่า “ของเรา” ซึ่งขยายตัวตนนั้น แสดงว่า ตัวตนของเราต้องมี  ในทางภาษาศาสตร์ต้องตีความไปแบบนี้ ถึงจะถูกต้อง

ข้อความว่า “ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา”  ถ้าตีความไปว่า “ตัวตนไม่มี” เป็นการตีความที่ผิดหลักภาษาศาสตร์

ไม่มีทฤษฎีหรือหลักการใดๆ ในทางภาษาศาสตร์ ที่จะตีความไปอย่างนั้นได้ 

ผู้ที่ตีความว่า “ตัวตนไม่มี” เช่นพระประยุทธ์/พระเปลืองข้าวสุกประชาชน หรือคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ ไม่ได้ใช้หลักภาษาศาสตร์

แต่ตีความไปเพราะ ไปเชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า คนเกิดมาโดยหลักการทางธรรมชาติ เกิดแล้วก็ตายไปเลย ไม่มีการสืบต่อใดๆ

แล้วอะไรล่ะ คือ ตัวตนของเรา

ก่อนที่จะอธิบาย  “ขันธ์ 5” และ  “ตัวตนของเรา” ของวิชาธรรมกายโดยละเอียด ขอยกตัวอย่างประกอบเสียก่อน เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ผมจะอธิบายได้ง่ายขึ้น  ซึ่งก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับอะตอมของนักวิทยาศาสตร์

ดีโมครีตุสได้นำแนวคิดของอาจารย์คือ ลิวคิพพุส (Leucippus) ได้ตั้งชื่อ อะตอม (átomos) ขึ้น ซึ่งมีความหมายว่า "ตัดแยกไม่ได้" หรือ "ชิ้นส่วนของสสารที่เล็กที่สุดไม่อาจแบ่งแยกได้อีก" เพราะคิดว่า อะตอมเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดแล้ว

ต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็รู้ว่า “อะตอม” ยังประกอบไปด้วย โปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน 

ต่อมาอีก นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบ ควาร์ก (quark) อันเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม ซึ่งมี 6 ชนิด เรียกว่า 6 เฟลเวอร์ (flavor) ได้แก่ อัพ (up), ดาวน์ (down), ชาร์ม (charm), สเตรนจ์ (strange), ท็อป (top), และ บ็อทท็อม (bottom)

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง ทฤษฎีเส้นเชือก (String Theory) ก็เสนอแนวคิดที่ว่า อนุภาคทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นอะตอมนั้น อาจจะเป็นเส้นเชือกที่เล็กมาก ไม่ใช่เป็นจุดอย่างอนุภาค

จากผลการศึกษาในเรื่องอะตอมของนักวิทยาศาสตร์ให้ความรู้แก่เราว่า นักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าเข้าใจผิดคิดว่าอะตอมเล็กสุด 

พวกพุทธวิชาการก็เข้าใจผิดเหมือนกันว่า “ขันธ์ 5” นั้น ละเอียดที่สุดแล้ว  ไม่มีอะไรที่ละเอียดไปกว่าขันธ์ 5 แล้ว

พอพบข้อความที่ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา” ซึ่งหมายความว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา

พวกนี้ก็มึนเพราะไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติธรรม ประกอบกับไปเชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า “ตายแล้วเกิดชาติเดียว” ก็ตีความมั่ว สอนมั่วไปว่า “ตัวตนไม่มี

ขันธ์ 5 ของวิชาธรรมกายเป็นดังนี้


กาย
ใจ
ละเอียดสุด
กำเนิดกาย
กำเนิดเห็น
กำเนิดจำ
กำเนิดคิด
กำเนิดรู้
ละเอียด
ดวงกาย
ดวงเห็น
ดวงจำ
ดวงคิด
ดวงรู้
หยาบ
รูป
เวทนา
สัญญา
สังขาร
วิญญาณ

ตามหลักวิชาธรรมกาย กำเนิดกาย กำเนิดเห็น กำเนิดจำ กำเนิดคิด กำเนิดรู้ ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำมักจะเรียกสั้นๆ ว่า “เห็น จำ คิด รู้” คือ ตัวตนของเรา

ขอย้ำอีกว่า ไม่ใช่ตัวตนแบบพราหมณ์หรืออัตตาแบบพราหมณ์

เป็นตัวตนที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ ซึ่งยังเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังต้องถูกปัจจัยปรุงแต่งอยู่ 

ตัว “เห็น จำ คิด รู้” กับ กายละเอียดต่างๆ นี้แหละ เป็นตัวไปเกิด มาเกิด ตามกรรมที่ทำไว้

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ  “ขันธ์ 5” นั้น  ตัวที่มาเกิดนั้น มาได้ในโลกมนุษย์นี้ เมื่อพ่อกับแม่ทำกิจกรรมสร้างมนุษย์กัน

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะ เราต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ เอาไปด้วยไม่ได้ 

หลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนในหนังสือ “มรรคผลพิสดาร” หน้า 20 ดังนี้

ขันธ์ ๕ เป็นดุจดังว่า บ้านเรือน เป็นที่อยู่อาศัย ส่วน เห็น จำ คิด รู้ เป็นดุจดังว่า บุคคล ผู้อาศัยบ้านเรือนอยู่

อุปาทานเป็นผู้เป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ กล่าวคือ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น ว่าเป็นเรา เป็นของแห่งเรา

ก็บ้านเรือนที่อยู่อาศัย กล่าวคือ ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอย่างใดขึ้นแล้ว บุคคลผู้อาศัย คือ เห็น จำ คิดรู้ นั้น ก็จำเป็นต้องได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย

กล่าวคือ เกิดทุกข์ขึ้นทันที เพราะ อุปาทานผู้ยึดถือว่า บ้านเรือนของเรา จึงได้เกิดทุกข์ขึ้น

จะเห็นได้ว่า คำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา ซึ่งหมายความว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตนของเรา  นั่นเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ทั้งขันธ์ 5 และ ตัว “เห็น จำ คิด รู้” กับ กายละเอียดต่างๆ นั้น ก็ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ทั้งหมด

โดยสรุป

ขันธ์ ๕ เบื้องต้น หรือ ขั้นละเอียดสุด คือ กำเนิดกาย กำเนิดเห็น กำเนิดจำ กำเนิดคิด กำเนิดรู้  

ขันธ์ ๕ เบื้องต้นขยายหยาบออกมาเป็น ขันธ์ ๕ เบื้องกลางคือ ดวงกาย ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้

ต่อไปเป็นเรื่องสำคัญที่พุทธวิชาการอธิบายไม่ชัดเจนคือ ขันธ์ ๕ เบื้องกลางต้นขยายหยาบออกมาอีกเป็น กาย ใจ จิต วิญญาณ

ใจ จิต วิญญาณนั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นเอง เพราะ ใจมีหยาบและละเอียด

ใจหยาบ
เรียกว่า
ใจ
ใจระดับกลาง
เรียกว่า
จิต
ใจละเอียด
เรียกว่า
วิญญาณ

ขอยกหลักฐานประกอบจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มหาวรรคที่ ๗ ๑. อัสสุตวตาสูตรที่ ๑ ดังนี้

[๒๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ ปุถุชนผู้มิได้สดับจึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายนั้น

แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง

ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิต เป็นต้นนั้นได้ เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเราดังนี้ ตลอดกาลช้านานฉะนั้น

ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลาย กำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ฯ

[๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ

แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ฯ


จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ก็ทรงสอนไว้แล้วว่า ใจ จิต วิญญาณ หรือ จิต มโน วิญญาณก็คือ ใจของมนุษย์ เกิดดับเกิดดับตลอดเวลา