บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อาสวะ-อนุสัย-สังโยชน์


พุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไป  คงอาจจะได้ยินคำว่า “กิเลสพันห้า-ตัณหาร้อยแปด” อันแสดงให้รู้ว่า กิเลสตัณหาของมนุษย์เรามีมากมาย 

อย่างไรก็ดี จากการอ่านพระสูตรที่ทำให้พุทธศาสนิกชนบรรลุมรรคผลนิพพาน มักจะมีคำว่า “อาสวะ” อยู่เสมอ คือ เมื่อกำจัดอาสวะได้  เราก็จะได้มรรคผลนิพพาน 

ที่เป็นปัญหาที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คือ “อาสวะคืออะไร มีกี่ประเภท

อาสวะ-อนุสัย

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นำคำอธิบายประเด็นดังกล่าวนี้ของพระสารีบุตรมาอธิบายขยายความในหัวข้อ “ความรู้จักอาสวะ” ดังนี้

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็คือ รู้จักอาสวะ รู้จักเหตุเกิดอาสวะ รู้จักความดับอาสวะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

อาสวะคือ กิเลสที่ดองจิตสันดาน ที่หมักหมมอยู่ในจิตสันดาน มี ๓ ประเภทคือ กามาสวะ ภวาสวะ อาสวะ อวิชชาสวะ

อาสวะจัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด มีเรียกชื่ออีกคำหนึ่งว่า อนุสัย คือกิเลสที่นอนจมติดตามไปอยู่เสมอ

อนุสัยนี้ก็แจกเป็น ๓ อีกเหมือนกัน คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย

คำว่าอาสวะกับอนุสัยนี้ แม้ว่าจะมีชื่อเพี้ยนกันอยู่ก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

ผมขอสรุปเป็นตารางดังนี้

อาสวะ
กามาสวะ
ภวาสวะ
อวิชชาสวะ
อนุสัย ๓
ราคานุสัย
ปฏิฆานุสัย
อวิชชานุสัย

กามราคานุสัย
ปฏิฆานุสัย
อวิชชานุสัย

แถวบนคือ อาสวะ มี 3  แถวที่สองคือ อนุสัยมี 3  แถวสุดท้ายนั้น เป็นรายชื่อของกิเลสที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  ก็น่าจะมาจากอาสวะ 3 ผสมกับ อนุสัย 3

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกอธิบายต่อมาในเรื่องกิเลสอย่างละเอียด กับอย่างกลางว่า

อาสวะ-อนุสัยเป็นกิเลสอย่างละเอียด  กิเลสอย่างกลาง ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ กับ ราคะ โทสะ โมหะ

สำหรับกิเลสอย่างหยาบคือ วีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางไตรทวาร สำเร็จเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐

กายกรรม ๓ นั้น ก็ได้แก่ ปาณาติบาต  อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร

วจีกรรม ๔ ก็คือ มุสาวาท  ปิสุณาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาวาท

มโนกรรม ๓ ก็คือ อภิชฌา โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของๆ ผู้อื่นมาเป็นของตน  พยาบาท มุ่งร้ายปองร้ายหมายล้างผลาญ มิจฉาทิฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม


โดยสรุป อาสวะกับอนุสัย คือ กิเลสประเภทเดียวกัน  เป็นกิเลสอย่างละเอียด  กิเลสนั้น ยังมีอย่างกลาง และอย่างหยาบด้วย

กิเลสอย่างหยาบ กลาง ละเอียดสามารถสรุปได้ ดังนี้

หยาบ
อภิชฌา
พยาบาท
มิจฉาทิฐิ
กลาง
โลภะ
โทสะ
โมหะ
กลาง
ราคะ
โทสะ
โมหะ
ละเอียด
กามราคานุสัย
ปฏิฆานุสัย
อวิชชานุสัย

สังโยชน์

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในหัวข้อ “สังโยชน์” ได้ให้ความหมายของสังโยชน์ว่า คือกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี 10 อย่าง คือ

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่

1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง

2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หรือนำศีลและพรตไปใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพื่อเป็นปัจจัยแก่การสิ้นกิเลส

เช่น การถือศีลเพื่อเอาไว้ข่มไว้ด่าคนอื่น การถือศีลเพราะอยากได้ลาภสักการะเป็นต้น ซึ่งรวมถึงการหมดความเชื่อถือในพิธีกรรมที่งมงายด้วย

4. กามราคะ – มีความติดใจในกามคุณ

5. ปฏิฆะ – มีความกระทบกระทั่งในใจ

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่

6. รูปราคะ – มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน

7. อรูปราคะ – มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย

8. มานะ – มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน

9. อุทธัจจะ – มีความฟุ้งซ่าน

10. อวิชชา - มีความไม่รู้จริง

พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ,วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 คือ กามราคะและปฏิฆะ ให้เบาบางลงด้วย

พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด

พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ

โดยสรุป 

การที่เราจะบรรลุมรรคผลนิพพานจะต้อง “ละ” หรือ “กำจัด” ทั้งกิเลสทั้งสังโยชน์  เมื่อกำจัดกิเลสอย่างหยาบ กลาง ละเอียดได้ บุคคลนั้น ก็จะบรรลุเป็น “โสดาบัน” หมดกิเลสไปแล้ว ยังเหลือเฉพาะสังโยชน์

เมื่อละสังโยชน์อีก 10 ประการได้ ก็จะเป็นพระอรหันต์

ในกรณีของสังโยชน์นี้ ส่วนใหญ่ท่านจะถือว่าเป็นกิเลสประเภทหนึ่งด้วย  ดังนั้น จึงมีคำกล่าวสั้นๆ ว่า “กำจัดกิเลสก็บรรลุพระอรหันต์


ท่านผู้อ่านก็พึงรู้ด้วยว่า  คำกล่าวนั้น กล่าวรวมสังโยชน์เข้าไว้ใน “กิเลส” ด้วยแล้ว




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น